วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พัฒนาการทางภาษาสำหรับเด็ก



Q: เท่าที่อ่านจากหนังสือบางเล่ม เขาบอกว่าการให้ลูกทานอาหาร จะช่วยฝึกพัฒนาการด้านการพูดได้ด้วย จริงหรือไม่ และเป็นอย่างไรคะ


A: จริงค่ะ เพราะกล้ามเนื้อที่ใช้ทานอาหารและพูดเป็นกล้ามเนื้อเดียวกัน ตอนที่ลูกเรียนรู้การทานอาหารอ่อน เขาก็จะเริ่มฝึกการเคี้ยวไปด้วยการใช้ลิ้นดุนอาหารไปยังเหงือกเพื่อบดอาหารให้ละเอียด เมื่อเริ่มโตขึ้น ลูกจะเริ่มเรียนรู้การใช้งานของลิ้นและริมฝีปากร่วมกัน โดยเริ่มใช้ลิ้นผลักและดันอาหารไปด้านหน้าเพื่อให้ออกจากปาก
จากนั้น พัฒนาการการใช้ปลายลิ้นเริ่มมีมากขึ้นเมื่อลูกเริ่มเคี้ยวเป็น ซึ่งนี่เป็นส่วนสำคัญในพัฒนาการด้านการพูด เพราะเสียงที่เปล่งออกมาก็เกิดจากการใช้ปลายลิ้นทั้งนั้น เช่น ตัว ท.ทหาร และ ด.เด็ก เมื่อลูกรู้จักควบคุมการใช้ลิ้น ริมฝีปาก็จะถูกใช้ให้เปิดกว้างเพื่อรับอาหารจากช้อนเข้าปาก และเริ่มเรียนรู้วิธีการกลืนในช่วงนั้น อาหารประเภทซุปข้นหรืออาหารที่มีเนื้อสัมผัสจะส่งให้เกิดปฎิกิริยาตอบสนองต่อการเคี้ยว ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของพัฒนาการทางการพูด ดังนั้น การให้อาหารลูกน้อยถือเป็นการบริหารการใช้ริมฝีปาก ขากรรไกรและลิ้น เป็นการเตรียมตัวเบื้องต้นสำหรับศิลปะในการออกเสียงในอนาคต


 

Q: เริ่มให้ลูกทานอาหารอ่อนตอนช่วง 4-6 เดือน จะช้าไปหรือมีผลต่อพัฒนาการด้านภาษาของลูกไหมคะ


 A: การให้อาหารเสริมตามวัยควรเริ่มเมื่อลูกอายุได้ 6 เดือนค่ะ แต่เด็กแต่ละคนก็มีความต้องการช้าเร็วต่างกันไป การให้อาหารเสริมตามวัยหลังจาก 6 เดือน ไม่ได้มีผลต่อพัฒนาการด้านการใช้ภาษาของลูกโดยตรงเท่าไหร่นัก แต่ถ้าลูกเรียนรู้การเคี้ยวช้า หรือยังคงดูดนมจากขวดอยู่ ลูกอาจจะมีปัญหาเรื่องการออกเสียงในตอนโตได้ อาหารเหลวสามารถช่วยพัฒนาการใช้กล้ามเนื้อริมฝีปากและลิ้นสำหรับการพูดค่ะ เช่นเดียวกันกับอาหารอ่อนจะช่วยส่งเสริมได้มากกว่าอาหารข้นเพราะจะมีส่วนช่วยในการฝึกเคี้ยวมากกว่า หากยังให้ลูกทานซุปข้น อาจทำให้ลูกคายอาหารออกมาได้ และเรียนรู้การเคี้ยวได้ช้าลง หลายๆ เสียง ไม่สามารถพัฒนาได้ในเวลาเดียวกัน บางเสียงอาจออกเสียงได้ยากกว่าเสียงอื่นๆ และจะพัฒนาขึ้นเมื่อลูกโตกว่านี้ค่ะ



Q: ทำอย่างไรถึงจะทำให้ลูกรู้สึกว่าเวลาทานอาหารเป็นช่วงเวลาที่น่าสนุกคะ


 A: การให้อาหารเสริมตามวัยแก่ลูก สามารถเป็นได้ทั้งช่วงเวลาสนุกและช่วงเวลาของความวุ่นวายค่ะ ความวุ่นวายคือ ทั้งคุณแม่และคุณพ่อจะรู้สึกกังวลว่าควรจะให้อาหารมากน้อยแค่ไหนถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของลูก รวมทั้งการเตรียมอาหารให้ลูก และการบังคับให้ลูกทาน แต่ความสนุกก็คือ คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ช่วงเวลาทานอาหารเป็นช่วงเวลาที่คุณและลูกได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ได้เล่น ได้หลอกล่อ ได้แลกเปลี่ยน ได้เรียนรู้และสอนการใช้ภาษาให้กับลูก  ช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ลูกได้ฝึกบริหารริมฝีปากและการควบคุมการใช้ลิ้น รู้จักการดูดกลืนอาหาร การเคี้ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการฝึกพูดในช่วงต่อไป คุณแม่และคุณพ่อควรใช้เวลาในการให้อาหารเสริมตามวัยของลูกเป็นโอกาสที่จะได้สื่อสารกับลูก ผ่านการตั้งชื่ออาหารต่างๆ ให้เขา หรือสอนลูกให้เคี้ยวและกลืนเป็น จำไว้เสมอว่า นี่คือการเริ่มต้นของพัฒนาการการพูดค่ะ



Q: คุณพ่อคุณแม่ควรจะมีวิธีพูดกับลูกอย่างไร เพื่อจะช่วยฝึกให้ลูกมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี


A: คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี คือ

- พูดเสียงดัง ฟังชัด
- นั่งใกล้ๆ กับลูก
- พยายามสบตากันให้มากที่สุด
- ส่งเสริมและให้กำลังใจด้วยการพูดและแสดงสีหน้าท่าทางที่มากกว่าปกติให้ลูกได้ฟัง
- ออกเสียงให้ชัดเจน และถูกต้องอย่างช้าๆ
- ใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและอ่อนหวาน
- ใช้ประโยคง่ายๆ พูดกับลูก เช่น ลูกช่วยเอาแก้วให้คุณพ่อหน่อยได้ไหมจ๊ะ
- หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาแบบเด็กๆ เมื่อลูกอายุมากกว่า 12 เดือน
- เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ให้ความสนใจและใส่ใจในสิ่งที่ลูกพูด
- เป็นนักสื่อสารที่ดีและมีความตื่นตัวกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเสมอ
- ให้คำชมแก่พวกเขา
- โต้ตอบอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นประโยคที่สมบูรณ์
- สำคัญที่สุดคือพยายามทำทุกอย่างดังกล่าวให้เป็นเรื่องสนุก


 

Q: ปัจจุบัน คุณแม่คุณพ่อส่วนใหญ่จะรู้สึกระมัดระวังและค่อนข้างเปรียบเทียบพัฒนาการของลูกตัวเองและลูกคนอื่นในวัยเดียวกันมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว พวกเขาควรกังวลเฉพาะเมื่อลูกของเขามีพัฒนาการทางภาษาช้ามากกว่าจะไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่นใช่หรือไม่คะ


 A: โดยทั่วไปแล้ว การพูด การออกเสียง และการใช้ภาษาจะมีพัฒนาการตามรูปแบบของมัน แม้ว่าจะมีมาตรฐานว่าอายุเท่านี้ ควรมีพัฒนาการได้เท่านี้ ซึ่งจริงๆ แล้วในแต่ละช่วงพัฒนาการก็มีอะไรหลายๆ อย่างต่างกันไป แม้ว่าเด็กที่ยังไม่สามารถพูดได้จนอายุ 2 ปี จะเรียนรู้ภาษาในเวลาไล่เลี่ยกัน และต้องใช้เวลาในการลำดับการเรียนรู้มากกว่าเดิม แต่จำไว้ว่า พัฒนาการต่างๆ นั้น มีหลายๆ อย่างให้เรียนรู้ และเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันในการพัฒนาตามความรู้สึกของแต่ละคนค่ะ
ภาษาคือ ความเข้าใจและการใช้คำ ในความเป็นจริง ภาษาของเด็กนั้นเรียนรู้ตั้งแต่เกิด โดยการฟัง การตอบสนองต่อครอบครัว และทุกอย่างจะพัฒนาเมื่อถึงเวลาของมัน เด็กบางคนอาจพัฒนาได้เร็วกว่าคนอื่น แต่บางคนอาจช้ากว่าคนอื่นก็ได้ ลองมาดูตัวอย่างว่าเด็กวัยใด ควรมีพัฒนาการอย่างไรบ้างค่ะ

0-12 เดือน
- พึมพำ (มัม ป้อ หม่ำ)
- เลียนแบบเสียงสิ่งต่างๆ (บรื๊นนน ซึ่งเป็นเสียงรถยนต์)
- ทำคลื่นหรือปรบมือหากมีคนเรียกร้อง


12-18 เดือน

- เริ่มชี้เรียกชื่อสิ่งของ
- เริ่มพูดคำเดี่ยวๆ เช่น แมว นม
18-24 เดือน- พูดหลายๆ คำ
- ผสมคำเข้าด้วยกัน เช่น หิวนม
- ฟังเรื่องเล่าสั้นๆ จากพ่อแม่
- เข้าใจคำถามง่ายๆ เช่น กล้วยอยู่ไหน

2-3 ปี
- เริ่มใช้ 3-5 คำ ต่อประโยค
- บอกคุณว่าเขากำลังทำอะไรอยู่
- ถามคำถาม
- เข้าใจความหมายต่างๆของคำ เช่น ใหญ่ เล็ก ใน นอก ใต้


Q: แล้วเมื่อไหร่คุณแม่คุณพ่อจึงควรกังวลใจว่าลูกเริ่มมีพัฒนาการทางการใช้ภาษาที่ช้ากว่าปกติคะ


A: เด็กบางคน จะมีพัฒนาการต่างๆ ที่ช้ากว่าปกติ ถ้าลูกใช้เวลาในการเรียนรู้การคลาน การเดิน การกินอาหารเหลวช้า ก็อาจเป็นไปได้ว่าพัฒนาการทางการพูดจะช้าไปด้วย แต่ถ้าลูกเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่บอก และสามารถทำตามคำแนะนำคือลูกสามารถชี้บอกได้ว่าต้องการอะไร แสดงว่าลูกอาจจะมีพัฒนาการทางการพูดช้าและมีความเป็นไปได้ที่จะมีพัฒนาการอย่างสมบูรณ์เมื่อโตขึ้นค่ะ
แต่ในทางกลับกัน หากเด็กไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งที่พ่อแม่ขอให้ทำ และไม่สามารถเลียนแบบหรือจดจำเสียงต่างๆ ได้เลย และเวลาได้ยินเสียงดังๆ ลูกก็ไม่รู้สึกตกใจ คุณแม่ควรพาลูกไปรับการตรวจเช็คหูและประสาทรับฟัง ปัญหาการได้ยิน ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการการพูดค่ะ

เด็กหลายคนควรจะสามารถเข้าใจบทสนทนาจากคนแปลกหน้าได้เมื่อพวกเขาอายุ 3-4 ปีขึ้นไป หากลูกของคนมีปัญหาในเรื่องนี้ พยายามปรึกษาคุณหมอหรือที่ปรึกษาเกี่ยวกับการพูดและฟังสำหรับเด็กแต่เนิ่นๆ เพื่อช่วยพัฒนาต่อไปค่ะ

 

Q: มีกิจกรรมหรือการออกกำลังกายแบบใดบ้างที่สามารถช่วยให้ลูกพูดหรือเปล่งเสียงได้อย่างชัดเจนบ้างคะ


A: หากลูกพูดไม่ชัด ลองให้ลูกทำท่าทางเป่าของ ดูดของหรือเคี้ยวของ เพราะจะช่วยฝึกกล้ามเนื้อรอบๆ ปาก เพื่อช่วยให้เขาสามารถพูดได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่เองก็ควรพยายามส่งเสริมให้ลูกเล่นเป่าลูกโป่ง ฟองอากาศ หรือเศษกระดาษทิชชู่ นอกจากนี้ อาจจะช่วยฝึกให้ลูกดูดน้ำจากหลอด และให้เค้าลองเคี้ยวอาหารเหลวดู คุณแม่คุณพ่อควรระลึกไว้เสมอว่า ควรจะมองหาผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาด้านการพูดและฟัง เพื่อมั่นใจได้ว่าลูกๆ จะได้รับการรักษาและฝึกฝนหากเขามีปัญหาในเรื่องพัฒนาการทางการพูดและการใช้ภาษาจริงๆ ค่ะ


 
Q: ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำแนะนำที่มีประโยชน์ ไม่ทราบว่ามีคำแนะนำอะไรทิ้งท้ายสำหรับคุณพ่อและคุณแม่ไหมคะ


A: คุณพ่อและคุณแม่ควรพูดหรือร้องเพลงให้ลูกฟังขณะอาบน้ำ แต่งตัว หรือป้อนอาหาร การได้ใช้น้ำเสียงที่หลากหลายพร้อมแสดงออกทางสีหน้าและท่าทาง จะช่วยพัฒนาพื้นฐานการพูดของลูกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ คุณแม่และคุณพ่อสามารถช่วยส่งเสริมการฝึกฝนโดยการมอบรางวัลเมื่อลูกพูดคำใหม่ๆ ได้ โดยการให้คำชม อ้อมกอด หรือจูบซักฟอดค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การพูดไม่ชัด

การพูดไม่ชัด
การพูดไม่ชัด
เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการเปล่งเสียงพูด ซึ่งมีทั้งเสียงสระ พยัญชนะ และเสียงวรรณยุกต์

ลักษณะการพูดไม่ชัด
แบ่งได้ออกเป็น 4 ลักษณะ
 พูดอออกเสียงโดยใช้เสียงพยัญชนะหรือเสียงสระอื่นแทนเสียงที่ควรพูด เช่น ใช้ อ อ่าง แทน ก ไก่ เมื่อพูดคำว่า “ไก่” จึงออกเสียงเป็น “ไอ่” หรือใช้สระ เอ แทน สระ แอ พูด “เกง” แทน “แกง”
 พูดออกเสียงไม่ครบทุกเสียง มีการเว้นไม่ออกเสียงพยัญชนะบางเสียง เช่น “กลาง” พูดเป็น “กาง” “นอน” พูดเป็น “นอ”
 พูดผิดเพี้ยนไปจนฟังไม่ออกว่าเป็นเสียงสระ หรือเสียงพยัญชนะใด
 พูดเติมเสียงสระ หรือพยัญชนะเข้าไปในคำ เช่น พูด “กะริน” แทน “กิน”

สาเหตุการพูดไม่ชัด
1. โครงสร้าง หรือการทำงานของอวัยวะเกี่ยวกับการพูด หรือการฟังผิดปกติ ได้แก่
 เกิดความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูด ได้แก่ ลิ้น เพดานอ่อน หรือลิ้นไก่ เป็นอัมพาตอ่อนแรง ทำให้ออกเสียงพยัญชนะ และสระผิดเพี้ยนไป
 ปากแหว่ง เพดานโหว่ ทำให้พูดไม่ชัด เพราะเด็กใช้อวัยวะไม่ถูกต้องในการออกเสียงพูด การพูดไม่ชัด ในกรณีนี้เป็นปัญหาร่วมกับการพูดเสียงขึ้นจมูก
 มีความผิดปกติที่อวัยวะในช่องปาก เช่น เส้นยึดใต้ลิ้นสั้นมาก เพดานโหว่
 หูพิการ ไม่ได้ยินเสียงพูดของผู้อื่นหรือได้ยินแต่ไม่ชัดทำให้การเลียนแบบไม่ถูกต้อง ตัวผู้พูดเองไม่ได้ยินเสียงของตนเอง ทำให้ไม่สามารถปรับการพูดของตนเองให้ถูกต้อง ชัดเจน
 ปัญญาอ่อน เด็กที่ระดับสติปัญญาไม่ดี มักมีปัญหาการพูดไม่ชัด
2. การเรียนรู้การพูดไม่ถูกต้อง
เด็กจำนวนมากพูดไม่ชัดเนื่องจากสาเหตุเด็กเหล่านี้มีโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดเป็นปกติ บางรายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น อยู่กับคนที่พูดไม่ชัด ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดไม่ได้ กระตุ้นให้เด็กพูดให้ถูกต้องชัดเจนตั้งแต่แรก เด็กขาดโอกาสในการเลียนแบบการพูดที่ดี สิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดูจึงมีส่วนในการทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้การพูดไม่ชัดเจนติดเป็นนิสัย

เกณฑ์การพิจารณาการพูดไม่ชัด
ได้มีผู้ทำการศึกษาเรื่องการออกเสียงพูดของเด็กช่วงอายุต่างๆ พบว่า เด็กสามารถออกเสียงสระได้ชัดเจนทุกเสียง และผันวรรณยุกต์ได้ทุกเสียง ตั้งแต่อายุก่อน 3-5 ปี ส่วนเสียงพยัญชนะ มีลำดับขั้นพัฒนาการดังนี้
พัฒนาการด้านการออกเสียง

อายุ เสียงที่ออกไม่ชัด
 2.1-2.6 เดือน
 2.7-3 เดือน
 3.1-3.6 เดือน
 3.7-4 เดือน
 4.1-4.6 เดือน
 4.7-5 เดือน
 5.1-5.6 เดือน
 อายุ 7 ปี ขึ้นไป  ม น ห ย ค อ
 เพิ่มเสียง ว บ ป ก
 เพิ่มเสียง ท ต ล จ พ
 เพิ่มเสียง ง ด
 เพิ่มเสียง ฟ
 เพิ่มเสียง ช
 เพิ่มเสียง ส
 เพิ่มเสียง ร

พัฒนาการของการออกเสียงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ ของเด็กไทย สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเด็กรายใดที่พูดไม่ชัด สมควรจะต้องได้รับการแก้ไขด้วยการฝึกพูด

การฝึกพูด
เมื่อผู้ที่พูดไม่ชัดได้รับการทดสอบจากนักแก้ไขการพูดและได้รับคำแนะนำให้เด็กมาฝึกพูดแล้ว นักแก้ไขการพูดจะฝึกให้เด็กออกเสียงสระ หรือเสียงพยัญชนะแต่ละเสียงโดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับฐานเสียงจากอวัยวะต่างๆ ลักษณะในการเปล่งเสียงพูดออกมา การวางลิ้นให้ถูกต้องตามตำแหน่งในการออกเสียงและลักษณะของลมหายใจ ตลอดจนทิศทางของลมในช่องปากขณะออกเสียงพยัญชนะ หรือสระแต่ละเสียงสอนให้รู้จักฟังเปรียบเทียบเสียงพูดของตนเองกับผู้สอน หรือเปรียบเทียบกับเสียงที่ถูกต้องชัดเจน การฝึกจะทำตั้งแต่ระดับที่เป็นหน่วยเสียงจนเป็นคำ วลี ประโยค ให้เด็กสามารถออกเสียงได้ถูกต้องทุกระดับ ตั้งแต่สามารถออกเสียงได้ถูกต้องเมื่ออยู่ในห้องฝึกจนกว่าจะใช้เสียงที่แก้ไขนั้นได้ในการพูดคุยสนทนาในชีวิตประจำวัน
ในรายที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกจากนักแก้ไขการพูด พ่อแม่ หรือผู้ปกครองเด็กจะได้รับคำแนะนำการปฏิบัติต่อเด็กขณะอยู่บ้าน ดังนี้
1. ควรกระตุ้นการพูดให้ชัดเจนด้วยการให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กพูดให้ชัดเจนเป็นตัวอย่าง
2. เตือนเด็กเมื่อเด็กพูดไม่ชัด แต่ไม่ให้ดุว่า หรือเคี่ยวเข็ญเด็กให้พูดให้ชัด
3. ไม่ล้อเลียนการพูดไม่ชัดของเด็ก
ส่วนมากเด็กที่พูดไม่ชัดในช่วงอายุ 3-4 ปี จะมีพัฒนาการจากการกระตุ้นเองที่บ้าน ถ้าเกินกว่าช่วงอายุนี้แล้ว ควรแก้ไขด้วยการฝึกพูดจากนักแก้ไขการพูด

คัดลอกมาจาก งานอรรถบำบัด สถาบันราชานุกูล

บทความข้างต้นนี้ ให้แง่คิดเกี่ยวกับ การดูแลลูกๆในการพูด เพื่อให้ลูกของคุณแม่มีพัฒนาการทางภาษาอย่างมีประสิทธิภาพ

วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“พูดจาภาษาเด็ก” (พ่อแม่ทุกคนควรอ่าน)

“พูดจาภาษาเด็ก”  (พ่อแม่ทุกคนควรอ่าน)

เรื่องที่ 1 : “คำมั่นสัญญา” เสียงกรีดร้องของเด็กที่ได้รับการขัดใจ กลางศูนย์การค้าใหญ่แห่งนั้น
เรียกร้องความสนใจมิใช่น้อยจากผู้คนคับคั่งของบ่ายนั้น

เจ้าของเสียงเป็นด.ช.วัยไม่เกิน6ขวบ ร่างกลมป้อม ผิวขาว ผมหยักสลวย
ขณะนั้น..แกสลัดมือจากผู้ปกครองลงดิ้นปั่ดๆกับพื้นร้องไห้โฮๆ อย่างไม่อายใคร ต่อด้วยคำรำพัน

“คนอะไร!พูดแล้วไม่ทำตามสัญญา”
“เอาเถอะ…เอาเถอะ…แล้วสิ้นเดือนจะซื้อให้”
ผู้หญิงซึ่งคงเป็นมารดา ก้มลงฉุดด้วย คงจะอายต่อสายตา
ซึ่งจับจ้องมาเป็นจุดเดียวเต็มทีแล้ว

แต่พอได้ยินประโยคนั้น พ่อเทวดาน้อยยิ่งแผลงฤทธิ์ ตะเบงขึ้นสุดเสียง
“ไม่เชื่อ…เดี๋ยวแม่ก็หลอกเค้าอีก บอกอย่างนี้มาตั้งหลายหนแล้ว
คนอะไร พูดแล้วก็ไม่ทำตามที่พูด คนโกหก!”

ผู้เป็นพ่อควักผ้าเช็ดหน้าออกมาซับเหงื่อขณะที่เหลียวมองรอบๆด้วยสีหน้าเจื่อนๆ
สุดท้ายก็ตัดสินใจก้มลงคว้าลูกขึ้นมา เดินลิ่วๆออกประตูไป
มองเห็นแขนขาของพ่อหนูกวัดไกวอย่างไม่ยอมแพ้
จนลับตาและเสียงตะโกน
“คนโกหก คนไม่ทำตามคำพูด”

ใครๆ ที่พบเห็นเหตุการณ์บ่ายนั้นต่างพากันหัวเราะขบขัน
ปัญหา ลูกแผลงฤทธิ์จะเอาโน่น เอานี่มีอยู่เสมอจนดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปเสียแล้ว แต่เราเคยคิดกันว้างหรือเปล่าว่าเบื้องหลังคำรำพึงรำพันว่า”คนโกหก…พูดไม่ จริง…ไม่ทำตามสัญญา”นั้นมีใครเคยไปสัญญาอะไรไว้กับแกบ้าง

มีบ้างไหม ที่ลูกๆทะเลาะกันแย่งของกัน คุณแก้ปัญหาไม่ตกก็เลยตัดสินด้วยประโยคที่ว่า
“ให้น้องไปก่อน แล้วแม่จะซื้อให้ใหม่”
มีบ้างไหมที่ลูกรบเร้า จะไปโน่น ไปนี่จนคุณรำคาญ ก็เลยสัญญาส่งๆ พอให้แกเลิกมายุ่งกับคุณว่า…
“สิ้นเดือนจะพาไป”

มีบ้างไหม …ที่คุณสัญญากับแก เพียงให้พ้นจากภาวะเฉพาะหน้าด้วยถ้อยคำลักษณะดังนี้
“ให้งานเสร็จก่อน”
“พรุ่งนี้จะพาไป”
“วันหลังจะซื้อให้”
“ไว้อีกหน่อยก่อน”
ฯลฯ

เด็กส่วนมาก ยึดถือคำมั่นสัญญาที่พ่อแม่ให้กับแกอย่างเหนียวแน่น
แกไม่เคยเข้าใจหรอกว่า”วันหลัง”หรือ”อีกหน่อย”ที่คุณสัญญากับแกนั้น
มีระยะเวลาเนิ่นนานสักเพียงไหน

ในขณะที่ “วันหลัง” ของผู้เป็นพ่อแม่ อาจหมายถึงระยะเวลาที่พอจะซื้อข้าวของนั้นๆให้แกได้โดยที่ตัวเองไม่เดือดร้อน
แต่สำหรับลูกๆแล้ว”วันหลัง”ของแกก็คือ เวลาใดก็ได้ที่ไปเจอะเจอสิ่งของนั้นๆเข้า

หรือคำผลัดผ่อนของคุณที่ว่า”ให้งานเสร็จ”
ทันทีที่คุณวางดินสอจากเส้นสายบนกระดาษที่โต๊ะเขียนแบบ
แกก็คิดว่าถึงเวลาที่คุณควรจะพาแกไปเที่ยวได้แล้ว
แกยังไม่รู้จักขั้นตอนของงานว่า กว่าจะเรียบร้อยลุล่วงไปโครงการหนึ่งๆนั้น
จะต้องผ่านการตรวจ…การแก้ กี่ครั้งกี่หน

ความรู้สึกนึกคิดของผู้ใหญ่และเด็กไม่เท่าเทียมกัน ถ้าไม่แน่ใจว่า
จะสามารถทำอะไรได้ในช่วงเวลาอันจำกัด ก็จงอย่าไปใ้คำมั่นสัญญากับแกเป็นอันขาดว่า
“พรุ่งนี้จะซื้อให้”
“งานเสร็จจะพาไป”
“อีกหน่อย…”
หรือถ้าจะสัญญากับแก คุณก็จะต้องอธิบายให้แกเข้าใจถึงระยะเวลาดังกล่าวโดยถี่ถ้วน
เพื่อให้แกตรึกตรองเอาเองว่าแกจะสามารถรอคอยเวลานั้นๆได้หรือไม่

คำสัญญาที่ให้แก่เด็ก เพียงเพื่อให้พ้นจากปัญหาเฉพาะหน้าชั่วครั้งชั่วคราว
โดยคุณไม่ได้คิดที่จะปฏิบัติตามนั้น จะทำให้คุณไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากแกอีกต่อไป
คิดดูเถิดว่า คุณจะต้องสะเทือนใจเพียงไร เมื่อได้ยินแกตะคอกใส่ว่า
“คนโกหก พูดแล้วไม่ทำตามสัญญา!”


เรื่องที่ 2 : “แม่ปูลูกปู”พ่อเบรครถกึกจนบอยหัวทิ่ม ถ้าไม่จับพนักไว้ทันก็คงได้หัวโนหรือปากเจ่อกันบ้าง
อารมณ์ของพ่อเดือดปุด แต่ยังไม่ทันจะอ้าปาก
บอยซึ่งยืดคอขึ้นมองตามสาวน้อยวัยรุ่น 2 คนเพิ่งจะเดินนวยนาดตัดหน้ารถไปอย่างทองไม่รู้ร้อน
และหัวร่อต่อกระซิกกันราวกับเดินอย่างถูกต้องบนทางม้าลาย ก็โผล่หน้าออกไปตะโกนสุดเสียง
“โธ่…อีหนู! เดี๋ยวก็ไม่ได้มีผัวหรอก!”

ทำให้พ่อสะดุ้งเฮือก ผรุสวาจาเผ็ดร้อนอยู่เพียงริมฝีปาก
มองดูบุตรชายวัยเพียง 5 ขวบ
ยังเรียนอยู่ชั้นอนุบาลด้วยซ้ำไป
แล้วก็ถามซ้ำอย่างไม่แน่ใจนัก
“บอยว่าอะไรนะ?”

พ่อหนูเอ่ยซ้ำด้วยน้ำเสียงใสไร้เดียงสา
ดูหน้าตาของแกแทบไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าแกเข้าใจประโยคที่เอ่ยออกมาทุกถ้อยกระทงความ
“บอยช่วยว่าให้พ่อไง เห็นพ่อว่าอย่างงี้ทุกที เวลาพ่อโกรธ”

แววตาบริสุทธิ์นั้นทำให้พ่อดุแกไม่ลง
นิ่งอยู่ซักพักก่อนที่จะออกรถไปอย่างระมัดระวัง
ระวังทั้งการขับรถและระวังทั้งคำพูดวาจา
ซึ่งมักหลุดออกไปโดยลืมคิดถึงผู้นั่งอยู่ด้วย
เขาผู้นั้นอายุเพียง 5 ขวบ
กำลังพร้อมที่จะรับฟัง และจดจำทุกสิ่งทุกอย่างจากผู้ที่อยู่ใกล้
ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แกนึกว่าเป็นสิ่งงที่ถูกต้องดีงาม
แกยังไม่รู้จักตริตรองหรอกว่า คำไหนพ่อพูดได้
แต่แกพูดแล้ว จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควรไป…

อีกรายหนึ่ง แม่เพิ่งรับลูกกลับจากร.ร.ด้วยความอ่อนระโหยเป็นพิเศษ
วันนี้งานเยอะ จนแม่แทบไม่ได้เงยจากโต๊ะทำงาน
กว่าจะขับรถฝ่าการจราจรที่ติดขัดเช่นเคยทุกวัน
กว่าจะค้าหาลูกสาวจากกลุ่มเพื่อนๆกลางสนาม
และกว่าจะพารถค่อยๆเคลื่อนไปตามถนนด้วยเกียร์ 1 2สลับกันอยู่แค่นั้น
แม่ก็เหงื่อตก หน้าซีดเซียว จนแม่หนูวัย 7 ขวบต้องถามขึ้น

“แม่เป็นอะไรจ๊ะ”
“แม่เหนื่อยจังเลยวันนี้ ปวดหัวด้วย ต้องขับรถระวังๆหน่อย”
“โอ๋..ไม่เป็นไรหรอกจ้ะ” แกปลอบผู้เป็นมารดา
“แม่ขับรถไปเรื่อยๆนะจ๊ะ ถ้าใครมันบีบแตร หรือว่าอะไรแม่ก็อย่าไปฟัง หนูจะด่าให้เอง”

แม่ชงัก เกือบจะหายจากความป่วยไข้ในทันที พึมพำอย่างงงๆ
“ด่าเหรอคะ”
“ไอ้บ้า บีบอยู่ได้ เก่งจริงก็แซงขึ้นไปซีวะ จะรีบไปหาพ่อหาแม่ก็ไป
เดี๋ยวจะตายซะก่อนหรอก”

แม่หนูเอ่ยฉาดฉานเพื่อยืนยันความมั่นใจให้แม่
หน้าของผู้เป็นมารดาเจื่อนลงทุกที ก็มันคำพูดของแม่ทั้งนั้นนี่นา
ตั้งแต่เริ่มขับรถ แม่ก็เริ่มปากจัดโดยอัติโนมัติ
และก็มักจะลืมไปทุกทีว่ามีลูกสาวน้อยนั่งอยู่ด้วยข้างหลัง
แกกำลังอยู่ในวัยสังเกตจดจำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในสายตาของแก

“หนูอย่าพูดอย่างนั้นอีกนะคะ มันไม่น่าฟังเลย”
แม่เตือน ดวงหน้าของลูกสาวปรากฏความพิศวง แม้ว่าแกจะไม่ปริปาก
แต่ว่าสายตาของแกก็สงสัยอยู่ชัดๆว่า
“ทำไมแม่พูดได้ แต่หนูพูดไม่ได้”

อีกมุมหนึ่ง ผู้ปกครองซึ่งอาจจะเป็นมารดา หรือป้า หรือน้า
กำลังละล้าละหลังจูงเด็กข้ามถนน
รถยนต์เลี้ยวหัวมุมมาโดยเร็ว
และก็เบรคเสียงสนั่นห่างทางม้าลายเพียงคืบเดียว
จะด้วยความโกรธ หรือตกใจก็ตามแต่
คำด่ายาวเหยียดก็หลุดออกมาโดยไม่ได้คิดถึงพ่อหนูแม่หนูที่กำลังจูงอยู่

แน่ละ…ถ้อยคำที่หลุดออกมาโดยมิได้กลั่นกรองเหล่านี้ถูกบันทึกเอาไว้แล้ว
เท่าที่แกจะจดจำได้ และเมื่อไหร่ที่สบโอกาส แกก็จะนำเอามาใช้อย่างเหมาะสม อย่างไม่น่าเชื่อ

ก็เมื่อแม่ปูเดินส่ายไปมาไม่ตรงทาง
แล้วจะบังคับลูกปูเดินถูกทิศทางได้อย่างไร
เด็กๆในวัยนี้นิยมชื่นชมพ่อของแกว่าเป็นวีรบุรุษ
และแม่ก็คือวีรสตรีคนเดียวในความรู้สึกของแก
ฉะนั้น…พึงระลึกไว้ตลอดเวลาว่า …
ไม่อยากให้ลูกเป็นอย่างไร ก็อย่าทำสิ่งนั้นให้แกเห็นเลย

ไขปริศนาภาษาเด็ก ตอนที่ 2

ไขปริศนาภาษาเด็ก ตอนที่ 1